Parasitology.MDCU

โรคหิด | Scabies

วันที่: 05 เมษายน 2013
ผู้เขียน: ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หมวดหมู่: บทความ

โรคหิด (scabies) เป็นโรคติดเชื้อผิวหนังที่พบบ่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กในชุมชนเมือง ในบางประเทศนั้นโรคหิดถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีการประมาณกันว่าความชุกของโรคหิดนั้นอาจสูงถึง 300 ล้านรายทั่วโลก ลักษณะอาการของโรคหิดที่ถูกบันทึกไว้มีมานานกว่า 2,500 ปีมาแล้ว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2230 กว่าที่จะได้ถูกค้นพบว่า มีตัวหิดเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค โดยผู้ค้นพบคือ Gio van Cosimo Bonomo ซึ่งเป็นแพทย์ชาวอิตาเลียน

โรคหิดเกิดจากอะไร

หิด เป็นแมลงเล็กมากจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลเดียวกับตัวไร มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sarcoptes scabiei มีวงจรชีวิตในคน ตัวหิดมี 8 ขา สีน้ำตาล มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หลังจากที่ได้รับหิดตัวเมียที่มีไข่อยู่ในตัวมาจากคนอื่นแล้ว หิดก็จะคลานหาที่เหมาะสมและขุดเจาะผิวหนังจนเป็นโพรง (Burrow) แล้ววาง ไข่ในโพรงนี้วันละ 2-3 ฟองต่อวัน หิดตัวเมียนี้จะขุดผิวหนังของเราต่อไปเรื่อยๆ วันละ 2-3 มิลลิเมตร (มม.) กลายเป็นโพรงหยึกหยักคล้ายงูเลื้อย (Serpentine burrow) โดยหิดจะขุดเฉพาะผิวหนังชั้นบนสุดเท่านั้น หิดตัวเมียจะวางไข่ตลอดอายุของมันซึ่งมีอายุประมาณ 1-2 เดือน ไข่ของหิดมีขนาด 0.1-0.15 มม. และจะใช้เวลาในการฟักตัว 3-4 วัน จึงจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย หิดตัวเต็มวัยนั้นตัวผู้มีขนาด 0.25-0.35 มม. หิดตัวเมียมีขนาด 0.30-0.45 มม. หิดตัวผู้จะคลานออกจากรู และคลานเข้าไปหารูที่ตัวเมียอยู่ เมื่อทำการผสมพันธุ์กันเสร็จแล้วตัวผู้ก็จะตาย ตัวเมียจะออกจากรูเดิม เดินหาบริเวณอื่นของผิวหนังที่เหมาะสม แล้วเจาะโพรงเตรียมพร้อมวางไข่ เป็นการเริ่มต้นวงจรชีวิตของมันใหม่ต่อไป

โรคหิดต่อต่อกันได้หรือไม่

หิดมีการติดต่อถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ชิดสัมผัสโดยตรง ตัวหิดไม่สามารถกระโดดได้ ซึ่งต่างจากหมัด หากหิดอยู่นอกร่างกายคน จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2-3 วัน แต่ถ้าอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส มันจะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ในคนปกติจะมีพบเชื้อหิด5-15 ตัว แต่ในคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีพบเชื้อเป็นหลายล้านตัว

อาการของโรคหิดเป็นอย่างไร

ผู้ที่เป็นโรคหิดจะพบลักษณะผื่นเป็นตุ่มแดง ตุ่มหนอง หรือผื่นที่เกิดจากอาการเกา ซึ่งผื่นมีลักษณะเป็นรอยนูนคดเคี้ยวคล้ายเส้นด้ายสั้นๆ ที่ผิวหนัง ความยาว 5 – 15 มม. ซึ่งเกิดจากการที่เชื้อตัวเมียไชลงไปในหนังกำพร้าถือได้ว่าเป็นรอยโรคจำเพาะสำหรับโรคหิดลักษณะผื่นผิวหนังลักษณะต่างๆ ที่กล่าวมานั้น พบการกระจายไปทั่วตัวโดยเฉพาะตามบริเวณที่ร่างกายอบอุ่น เช่น ตามง่ามมือ ง่ามเท้า ข้อพับ ข้อศอก ใต้ราวนม รอบหัวนม สะดือ บั้นเอว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลูกอัณฑะ ขาหนีบ และอวัยวะเพศ ซึ่งบริเวณนี้มักพบตุ่มแดงคันขนาดใหญ่และหายช้า นอกจากรอยโรคดังกล่าวแล้วในเด็กจะอาจพบรอยโรคบริเวณใบหน้าศีรษะและฝ่ามือฝ่าเท้าร่วมด้วยได้ และลักษะที่สำคัญที่สุดคือ มีอาการคันมาก โดยเฉพาะเวลากลางคืนจะคันมากเป็นพิเศษ อาการคันเกิดจากปฎิกิริยาภูมิไวต่อหิดตัวเมีย ต่อไข่หิด และต่อมูลหิด ในผู้ป่วยบางกลุ่มเช่นภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง สมองพิการ ขาดสารอาหาร เป็นมะเร็ง หรือได้รับยากดภูมิต้านทานของร่างกายอาจมีเชื้อหิดจำนวนมากทำให้ปรากฏรอยโรคเป็นสะเก็ดทั่วตัว (crusted หรือ Norwegian scabies) ซึ่งต่างจากรอยโรคทั่วไป

สงสัยว่าเป็นโรคหิดควรทำอย่างไร

เมื่อผู้ป่วยมีอาการหรือลักษณะข้างต้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติ อาการ และการดูรอยโรคเป็นสำคัญ ร่วมกับอาจมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อแยกโรคอื่นๆ เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ ลมพิษ การติดเชื้อโลน เป็นต้น ซึ่งในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อหิดนั้น ผู้ป่วยจะได้รับการรักษา เนื่องจากเชื้อหิดเป็นปรสิตภายนอกร่างกายจึงค่อนข้างตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยาทา ซึ่งการทายานั้นต้องทาทั่วตัวยกเว้นบริเวณใบหน้าและศีรษะไม่ใช่ทาเฉพาะในบริเวณรอยโรค สำหรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรทาที่หน้าและคอด้วย ข้อควรระวัง คือ ยาบางชนิดมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนังและขี้ผึ้งกำมะถัน มีกลิ่นฉุน ไม่ควรทาบริเวณหน้า ดังนั้นการเลือกใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ในกรณียารับประทานนั้นแพทย์อาจพิจารณาในรายที่จำเป็น เช่นผู้ป่วยสูงอายุบางรายผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่มีผื่นหนามากทำให้การซึมผ่านของยาลดลงผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาทาหรือมีข้อห้ามในการใช้ยาหลังจากได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แต่อาการคันเกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อตัวหิด ดังนั้นอาการคันนี้อาจอยู่อีก 2-4 สัปดาห์ ถึงแม้ว่ากำจัดตัวหิดหมดไปแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาและการใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ควรมีการป้องกันการแพร่กระจายของหิดสู่ผู้อื่นร่วมด้วย

จะป้องกันตนจากโรคหิดได้อย่างไร

1. ต้องนำผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน คู่นอนของตนเอง มารักษาไปด้วยพร้อมๆ กัน

2. การกำจัดหิดที่อาจหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ของใช้ที่มีการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว ที่ใช้ภายใน 3 วัน ก่อนการรักษา จะต้องนำมาซักทำความสะอาด และต้องแช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20-30 นาที สำหรับสิ่งของที่นำมาซักล้างไม่ได้ ให้ใช้วิธีใส่ถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้มิดชิด ทิ้งไว้อย่างน้อย 72 ชั่วโมงเพื่อให้ตัวหิดตายหมด แล้วจึงนำของใช้ดังกล่าวมาใช้ต่อได้ ในกรณีที่เป็นของใช้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น โซฟา พรม เก้าอี้ อาจใช้เครื่องดูดฝุ่นช่วยกำจัดได้

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง หากจำเป็นควรสวมถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการคันไม่ทราบสาเหตุ

โรคหิดยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในเมืองไทย โรคหิดเป็นโรคที่ติดต่อง่าย แต่การป้องกันและรักษาหายโรคนั้นทำได้ไม่ยาก ในทางคลินิคมีผู้ป่วยหลายคนได้รับการวินิจฉัยและรักษาล่าช้า เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในตัวโรค จึงไม่ได้มาพบแพทย์ การรณรงค์เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดการติดต่อและควบคุมโรคหิดได้อย่างยั้งยืนในระยะยาว





REFERENCE

Burkhart, CG. Recent immunologic considerations regarding the itch and treatment of scabies. Dermatology Online Journal; 12(7): 7. 13 Feb. 2009
http://dermatology.cdlib.org/127/commentary/scabies/burkhart.html

Karthikeyan K. Scabies in children. Arch Dis Child Educ Pract 2007; 92: 65-9.

Arlian, L. Biology, Host Relations and Epidemiology of Sarcoptes Scabiei. Ann. Rev. Entomol 1989; 34:139-61. 5 Feb. 2009 
http://arjournals.annualreviews.org/doi/pdf/10.1146/annurev.en.34.010189.001035?cookieSet=1

Strong M, Johnstone PW. Interventions for treating scabies. Cochrane Database of Syst Rev. 2007; 3: CD000320.
http://emedicine.medscape.com/article/1109204

PHOTO

http://www.inderm.go.th/inderm_sai/skin/skin41.html

Courtesy of Kenneth E. Greer, MD.
http://en.wikipedia.org/wiki/Sarcoptes_scabiei

Department of parasite : Faculty of medicine Chulalongkorn memorial hospital.